ประวัติโรงเรียน
|
ที่ตั้งโรงเรียน เลขที่ 1 หมู่ 8 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา 30190
ขนาดสถานศึกษา ขนาดกลาง
จำนวนพื้นที่ 37 ไร่
ระดับชั้นที่เปิดสอน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6
โรงเรียนด่านเกวียนวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ประเภทสหศึกษา จัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 15 กิโลเมตร ตามถนนเส้นทางสายราชสีมา-โชคชัย มีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2532 ทางสภาตำบลด่านเกวียนและสภาตำบลท่าอ่างได้มีมติให้ใช้ที่ดิน บริเวณป่าช้าเก่า พื้นที่ประมาณ 50 ไร่เศษ ตามทะเบียนที่สาธารณประโยชน์แปลงเลขที่ 11 ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยจะใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา ต่อมาได้รับความเห็นชอบจากนายอำเภอโชคชัย(นายปราโมทย์ สุวรรณศรี) และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา(นายไสว พราหมมณี) ให้ใช้ที่ดินดังกล่าวได้
พ.ศ. 2533 โรงเรียนโชคชัยสามัคคีโดย นายรัช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้เสนอขอจัดตั้งสาขาโรงเรียนไปยังกรมสามัญศึกษาและต่อมาได้ส่งหลักฐานทางที่ดินที่จะใช้ปลูกสร้างอาคารประมาณ 53ไร่เศษ ประกอบการพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนในปีนั้นมีนักเรียน 3 ห้องเรียน จำนวน 121 คน มีครู-อาจารย์จากโรงเรียนโชคชัยสามัคคีมาดูแลการจัดการเรียนการสอน ที่อาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนบ้านด่านเกวียน
11 มีนาคม พ.ศ. 2534 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนด่านเกวียนวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลด่านเกวียนอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกรมสามัญศึกษา ได้อนุมัติแผนชั้นเรียนในปีการศึกษา 2534 เป็น 4-3-0 รวม 7 ห้อง โดยรับนักเรียนสาขาโรงเรียนของโรงเรียนโชคชัยสามัคคีชั้น ม. 2 รวมอยู่ด้วย และเปิดทำการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2534 โดยใช้สถานที่ ณ อาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนบ้านด่านเกวียน เนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารและอาคารประกอบ มีจำนวนครู และนักเรียน ดังนี้
ครู 7 คน มี นายภิรมย์ กลิ่นเชิดชู เป็นครูใหญ่
นักเรียน 299 คน แยกเป็น ม. 1 จำนวน 4 ห้อง 179 คน ม. 2 จำนวน 3 ห้อง 120 คน
พ.ศ. 2534 หลังประกาศจัดตั้งโรงเรียนใหม่แล้ว ยังคงใช้สถานที่เรียนเดิมมีนักเรียน 7 ห้องเรียน จำนวน 299 คน ครู-อาจารย์ระยะแรก 7 คน ต่อมาได้ย้ายมาเพิ่มอีก รวมทั้งสิ้น 13 คน
พ.ศ. 2535 ได้ย้ายสถานที่เรียนไปยังพื้นที่จริงในปัจจุบัน โดยได้ร่วมกับชุมชนจัดสร้างอาคารชั่วคราว 15 ห้องเรียนด้วยการทอดผ้าป่าการศึกษา ในปีนี้มีนักเรียน 13 ห้องเรียน จำนวน 550 คน ครู –อาจารย์ 21 คน ที่ดินส่วนหนึ่งที่มีราษฎรอ้างสิทธิครอบครองซึ่งอำเภอฯผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและยังไม่ประสบผลสำเร็จจึงมีผลให้โรงเรียนต้องมีการปรับผังหลักและบริหารงบประมาณด้านที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจนลุล่วงไประดับหนึ่ง สิ้นปีมีนักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นรุ่นแรก
พ.ศ. 2536 อาคารเรียน 216 ล ก่อสร้างเสร็จได้เคลื่อนย้ายนักเรียนเข้าเรียน บางส่วนยังต้องเรียนอยู่ชั้นล่างสุด(ใต้ถุนอาคาร) และอาคารเรียนชั่วคราวเดิม ซึ่งย้ายมาอยู่ด้านหลังอาคาร 216 ล มีนักเรียน 20 ห้องเรียน 785 คน ครู-อาจารย์ 26 คน ปีนี้ได้รับการร้องขอให้เปิดสาขาโรงเรียนที่ตำบลท่าจะหลุง รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นปีแรก ได้ส่งครูไปทำหน้าที่หัวหน้าสาขาและอยู่ประจำ 2 คน ปลายปีได้รับอนุมัติตำแหน่งสถานศึกษา จาก ก.ค.เป็นตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
พ.ศ. 2537 โรงเรียนได้บริหารงบประมาณจากเงินเหลือจ่ายไปใช้ในการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้มีความพร้อมมากขึ้น มีห้องเรียน 24 ห้อง นักเรียน 892 คน ครู-อาจารย์ 33 คน และปีนี้ ก.ค.ได้อนุมัติตำแหน่งสถานศึกษาเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน
พ.ศ. 2538 ได้รับอนุมัติให้เปิดมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นปีแรก มีนักเรียน 25 ห้องเรียน จำนวน 866 คน ครู-อาจารย์ 36 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีโอกาสเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสของ สปช. มากขึ้น มีผลทำให้นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีปริมาณลดลง ในปีนี้มีอาคารเรียน 216 ล เพิ่มอีก 1 หลัง ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ แต่มีปัญหาการปรับปรุงสภาพพื้นที่ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ
พ.ศ. 2549 โรงเรียนด่านเกวียนวิทยา ได้ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. 2552 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 312 เพิ่มอีก 1 หลัง และได้ก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่งประจำโรงเรียน
พ.ศ. 2555 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ เพิ่ม 1 หลัง เพื่อใช้เป็นโรงอาหารสำหรับนักเรียน
พ.ศ. 2562 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน คสล 412 สี่ชั้นใต้ถุนโล่ง 12 ห้องเรียน เพิ่มอีก 1 หลัง
|